เกี่ยวกับ "ไม่ขำ"
ประเทศไทยมีอัตราการแกล้งกันในเด็กและวัยรุ่นสูงเป็นอันดับสองของโลก รองลงมาจากญี่ปุ่น การแกล้งกันนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำทั้งในและนอกโรงเรียน ทั้งในพื้นที่กายภาพและพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งบ่อยครั้งส่งผลให้เกิดผลกระทบทางลบทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่การบาดเจ็บ การไม่อยากไปโรงเรียน การเก็บตัว นอนไม่หลับ ไปจนถึงการคิดและพยายามฆ่าตัวตาย
สำหรับนักเรียน สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการรับมือกับปัญหาการแกล้งกัน คือความรู้และทักษะในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆ เช่นการแกล้งกันทางกาย ทางคำพูด และบนโลกออนไลน์ รวมทั้งการขอความช่วยเหลือเพื่อให้ตนเองพ้นจากสถานการณ์นั้น และ/หรือป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์นั้นขึ้นอีก เราได้พัฒนา แชทบอท "ไม่ขำ" ให้เด็กนักเรียนมาเรียนรู้และขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลา โดยเข้าใช้งานได้ที่ m.me/maikhambot หรืออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีใช้งาน ที่นี่
สำหรับครู สิ่งที่จำเป็นคือครูจะต้องมีความรู้และทักษะในการเฝ้าระวัง ตรวจหา และรับมือกับการแกล้งกันของเด็กนักเรียน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือนักเรียนผ่านกลไกและเครื่องมือต่าง ๆ อย่างทันท่วงที โครงการได้พัฒนา หลักสูตรออนไลน์ “การรับมือกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์” ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ครูได้เรียนรู้ทักษะดังกล่าวได้
รายละเอียดบทเรียน
Module 1 |
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งกัน พาครูไปเข้าใจปัญหาเด็กนักเรียนถูกกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน เด็กๆ อยากให้ครูช่วยเหลือพวกเขา แต่อาจจะยังไม่กล้าหรือไม่มั่นใจ ครูคือที่พึ่งคนสำคัญคนแรกในโรงเรียน |
Module 2 |
รู้จักการกลั่นแกล้งกัน พาครูไปเข้าใจว่าการถูกกลั่นแกล้งมีลักษณะอย่างไร การกระทำใดคือการกลั่นแกล้งรังแก ซึ่งมีความแตกต่างจากการเล่นกันของเด็กๆ และรู้ถึงผลกระทบหากปล่อยให้เกิดการกลั่นแกล้งกันไปเรื่อยๆ |
Module 3 |
การกลั่นแกล้งกันทางกาย คำพูด และโลกออนไลน์ พาครูไปรู้จักกับการกลั่นแกล้งรูปแบบต่างๆ ทั้งทางกาย วาจา และโลกออนไลน์ |
Module 4 |
การตรวจหาการกลั่นแกล้งกัน พาครูไปฝึกให้สังเกตมากขึ้นเพื่อตรวจหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน |
Module 5 |
การจัดการและป้องกันการกลั่นแกล้งกัน พาครูไปพบกับวิธีการช่วยเหลือดูแลนักเรียน และการป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน |
แหล่งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
เนื้อหาในบทเรียนออนไลน์นี้ ถูกประมวลขึ้นจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเราขอแนะนำดังนี้
- คู่มือปฏิบัติสำหรับการดำเนินการป้องกันและจัดการการรังแกกันในโรงเรียน โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- หลักสูตร และชุดกิจกรรมการไม่รังแกกัน สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โครงการป้องกันการใช้ความรุนแรงและการรังแกกันในสถานศึกษา โดยมูลนิธิแพธทูแฮลท์
- งานวิจัยเรื่อง "การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับดีแทค ในโครงการ Safe Internet บริษัท DTAC
- คู่มือผู้บริโภคเท่าทันสื่อ โครงการพัฒนากลไกเครือข่ายผู้บริโภคเฝ้าระวังและเท่าทันสื่อจังหวัดสงขลา ในยุคสื่อหลอมรวม